บิลล์ เกตส์
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ไปที่: ป้ายบอกทาง, ค้นหา

บิลล์ เกตส์วิลเลียม เฮนรี เกตส์ ที่สาม (เกิด 28 ตุลาคม ค.ศ. 1955) หรือที่มักเป็นที่รู้จักในชื่อ บิลล์ เกตส์ เป็นนักธุรกิจชาวอเมริกัน และหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ เขากับผู้บุกเบิกด้านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลคนอื่น ๆ ได้ร่วมกันเขียนต้นแบบของภาษาอัลแตร์เบสิก ซึ่งเป็นอินเตอร์เพรเตอร์สำหรับเครื่องอัลแตร์ 8800 (เค่รื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในยุคแรกๆ) เขาได้ร่วมกับ นายพอล อัลเลน ก่อตั้งไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชันขึ้น ซึ่งในขณะนี้เขาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร และหัวหน้าสถาปนิกซอฟต์แวร์ นิตยสารฟอบส์ได้จัดอันดับให้ บิลล์ เกตส์ เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกหลายปีติดต่อกัน

วิลเลียม เฮนรี เกตส์ ที่สามได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการอัศวินแห่งจักรวรรดิบริเตน (KBE) จากสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 2

เนื้อหา
1 ประวัติ
1.1 คฤหาสน์ของครอบครัวเกตส์
2 ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชัน
3 มูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์
4 เกียรติประวัติ
5 ประมาณการทรัพย์สินของเกตส์
6 การมาเยือนเมืองไทยของ บิลล์ เกตส์
7 บิลล์ เกตส์ในภาพยนตร์และโทรทัศน์
7.1 ตัวละครบิลล์ เกตส์ในนวนิยาย
7.2 การปรากฏตัวในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
8 การอ้างอิงถึงบิลล์ เกตส์ในซอฟต์แวร์ต่าง ๆ
9 หนังสือที่แต่งโดยบิลล์ เกตส์
10 อ้างอิง
11 แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้] ประวัติ
บิลล์ เกตส์ เกิดที่เมืองซีแอทเทิล มลรัฐวอชิงตัน เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1955 บิดาชื่อนายวิลเลียม เอ็ช เกตส์ จูเนียร์ มีอาชีพนักกฎหมายของบริษัท มารดาชื่อแมรี แมกซ์เวล เกตส์ เป็นสมาชิกคณะกรรมการของ Berkshire Hathaway, First Interstate Bank, Pacific Northwest Bell และคณะกรรมการแห่งชาติของ United Way ชื่อเต็มของเขาคือ วิลเลียม เฮนรี เกตส์ ที่สาม ปู่ของเขาคือ วิลเลียม เฮนรี เกตส์ ซีเนียร์

บิลล์ เกตส์เข้าศึกษาที่โรงเรียนเลคไซด์ อันเป็นโรงเรียนมัธยมที่ดีที่สุดในเมืองซีแอทเทิล ที่นั่นเองที่เขาได้พัฒนาทักษะในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์กับเครื่องมินิคอมพิวเตอร์ของโรงเรียน เพื่อให้ได้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพดีกว่าเดิม บิลล์ เกตส์ กับ พอล อัลเลน เพื่อนสนิท ได้แอบย่องเข้าไปในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ทั้งคู่ถูกจับได้แต่ก็ได้เจรจาตกลงกับเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อช่วยจัดหาเครื่องคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียนได้ใช้ฟรี ต่อมา บิลล์ เกตส์ได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด แต่ต้องพักการเรียนไปโดยไม่จบการศึกษา เพื่อที่จะได้เริ่มประกอบอาชีพทางด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ในระหว่างที่กำลังศึกษาอยู่ที่ฮาร์วาร์ด เขามีโอกาสได้ทำความรู้จักกับสตีฟ บาลเมอร์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ ทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมห้องในหอพักระหว่างที่เป็นนักศึกษาปี 1

ขณะที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่ฮาร์วาร์ด เขาได้ร่วมกับ พอล อัลเลน เขียนต้นแบบ ภาษาอัลแตร์เบสิก ซึ่งเป็นโปรแกรมอินเตอร์เพรเตอร์สำหรับเครื่องอัลแตร์ 8800 (เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรุ่นแรกที่ประสบความสำเร็จทางการค้าในกลางคริสตทศวรรษที่ 70) ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาษาเบสิก ซึ่งเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เรียนรู้ได้ง่าย ถูกพัฒนาขึ้นครั้งแรกโดยดาร์ทเมาท์คอลเลจ เพื่อใช้ในการเรียนการสอน

เกตส์สมรสกับ เมลินดา เฟร้นช์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1994 ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันสามคน เจนนิเฟอร์ แคทารีน เกตส์ (เกิดเมื่อวันที่ 26 เมษายน ค.ศ. 1996) โรรี จอห์น เกตส์ (เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1999) และ ฟีบี อาเดล เกตส์ (เกิดเมื่อวันที่ 14 กันยายน ค.ศ. 2002)

ในปี ค.ศ. 1994 บิลล์ เกตส์ได้ม้วนกระดาษไลเชสเตอร์ ซึ่งรวบรวมงานเขียนของเลโอนาร์โด ดา วินชีมาไว้ในครอบครอง และในปี ค.ศ. 2003 ได้นำม้วนกระดาษนี้ออกแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะแห่งเมืองซีแอทเทิล

ในปี ค.ศ. 1997 เกตส์ได้ตกเป็นเหยื่อของแผนการขู่กรรโชกทรัพย์อันแปลกประหลาด ของนายอดัม ควินน์ เพลตเชอร์ ชาวเมืองชิคาโก ซึ่งเกตส์ก็ได้ขึ้นให้การต่อศาลในการพิจารณาคดีดังกล่าว เพลตเชอร์ถูกตัดสินลงโทษเมื่อเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1998 และถูกจำคุกเป็นเวลา 6 ปี ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1998 เกตส์ถูกนายโนเอล โกดังจู่โจมด้วยการปาขนมพายหน้าครีมใส่ ระหว่างการไปปรากฏตัวที่ประเทศเบลเยียม

ตามรายงานของนิตยสารฟอบส์ เกตส์ได้บริจาคเงินให้การรณรงค์หาเสียงของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อปี ค.ศ. 2004 และตามรายงานของศูนย์เฝ้าระวังทางการเมือง เกตส์ถูกระบุว่าบริจาคเงินอย่างน้อย 33,335 ดอลลาร์สหรัฐ ให้กับการรณรงค์หาเสียงมากกว่า 50 ครั้ง ตลอดฤดูกาลเลือกตั้งในปีค.ศ. 2004

เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 2004 บิลล์ เกตส์ ได้ร่วมกับคณะกรรมการบริหารของ Berkshire Hathaway เพื่อสานความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการระหว่างเขากับ วอร์เรน บัฟเฟตต์ Berkshire Hathaway เป็นกลุ่มบริษัทที่รวมเอา บริษัทประกันภัยไกโค Benjamin Moore(บริษัทสี) และ Fruit of the Loom(บริษัทสิ่งทอ)เข้าไว้ด้วยกัน เกตส์ยังได้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารของ Icos ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของ Bothell

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 2005 สำนักวิเทศสัมพันธ์ของสหราชอาณาจักรได้ประกาศว่า บิลล์ เกตส์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการอัศวินแห่งจักรวรรดิบริเตน อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตอบแทนที่ต่อสิ่งเขาได้อุทิศให้กับบริษัทในสหราชอาณาจักร และความพยายามของเขาในการลดปัญหาความยากจนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่เนื่องจากเขาไม่ได้เป็นบุคคลสัญชาติในกลุ่มประเทศเครือจักรภพ เขาจึงไม่สามารถใช้คำนำหน้าว่า เซอร์ ได้ แต่เราต้องใส่อักษร "KBE" (Knight Commander of The British Empire) ตามหลังชื่อของเขา

[แก้] คฤหาสน์ของครอบครัวเกตส์
ครอบครัวเกตส์อาศัยอยู่ในเขตชานเมืองเฉพาะผู้มีสิทธิ์พิเศษของเมดินา มลรัฐวอชิงตัน ในคฤหาสน์หลังใหญ่ข้างหุบเขาที่เมื่อมองออกไปจะเห็นทัศนียภาพของทะเลสาบวอชิงตัน บ้านของครอบครัวเกตส์เป็นบ้านสมัยใหม่ของคริสต์ศตวรรษที่ 21 ในรูปแบบของ "กระท่อมแปซิฟิก" โดยมีระบบอิเล็กทรอนิกส์อันทันสมัยอยู่ทุกส่วนของบ้าน ในแง่หนึ่งมันดูเหมือนแมนชันในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 18 หรือ 19 เสียมากกว่า. ในบ้านยังมีห้องสมุดส่วนตัวขนาดใหญ่พร้อมห้องอ่านหนังสือที่มีหลังคาเป็นรูปโดม ในขณะที่บ้านหลังนี้มีกลิ่นอายของสถาปัตยกรรมคลาสสิก มันก็มีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์อยู่หลายอย่าง ผู้เยี่ยมชมจะถูกตรวจค้นและได้รับไมโครชิปก่อนเข้ามาในบ้าน ชิปขนาดเล็กจะส่งสัญญาณในขณะอยู่ในบ้าน และจะระบบควบคุมปรับอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ให้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้ ตามที่ได้ตั้งโปรแกรมไว้ล่วงหน้า จากบันทึกสาธารณะของเขตคิง เคาท์ตี ในปี ค.ศ. 2002 มูลค่าโดยประมาณของอสังหาริมทรัพย์ (ที่ดิน และ บ้าน) ถูกตีราคาไว้ถึง 113 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนภาษีโรงเรือนประจำปีมีมูลค่าเกินกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐอยู่เล็กน้อย

USNews.com: Technology: Bill Gates' House แผนผังของบ้านแบบอินเตอร์แอคทีฟ
Google GlobeTrotting: Bill Gates' House ภาพถ่ายดาวเทียมของคฤหาสน์บิลล์ เกตส์จากแผนที่กูเกิล

[แก้] ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชัน
ดูบทความหลัก ไมโครซอฟท์
ในปีค.ศ. 1975 บิลล์ เกตส์ กับ พอล อัลเลน ได้ร่วมกับก่อตั้ง ไมโครซอฟท์ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น และได้นำเอาภาษาเบสิกที่พัฒนาขึ้นเองออกวางตลาด และให้ชื่อว่าไมโครซอฟท์เบสิก ภาษาคอมพิวเตอร์นี้ได้กลายมาเป็นรากฐานให้แก่ธุรกิจลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ซึ่งถูกผนวก (มักจะมาในรูปแบบของรอม) เข้ากับเครื่องคอมพิวเตอร์ในบ้าน และเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลส่วนใหญ่ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 70 และ 80

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1976 บิลล์ เกตส์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นิยมงานอดิเรก ซึ่งสร้างความโกรธเคืองแก่ผู้นิยมเล่นคอมพิวเตอร์เป็นงานอดิเรกเป็นอย่างมาก โดยเขาได้ประกาศว่า ธุรกิจคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์มีตัวตนอยู่ในตลาดการค้า และยังบอกด้วยว่า ไม่ควรทำสำเนาซอฟต์แวร์แจกจ่ายกันโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของ ซึ่งเขาได้กล่าวหาการกระทำนี้ว่าเทียบเท่ากับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ขณะที่เขาพูดถูกในแง่ของกฎหมาย ข้อเสนอดังกล่าวของเกตส์นับว่าไม่เคยมีมาก่อนในวงการคอมพิวเตอร์ ที่ได้รับอิทธิพลจากมรดกตกทอดของวงการแฮม เรดิโอ และวงการแฮกเกอร์ อันเป็นชุมชนซึ่งมีการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมและความรู้กันอย่างเสรี อย่างไรก็ดี เกตส์พูดถูกในแง่ของการตลาด และความพยายามของเขาก็ได้รับผลตอบแทนในที่สุด ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชันได้กลายเป็นองค์กรที่ประสบความสำเร็จทางการค้ามากที่สุดในโลก และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์สำหรับขายปลีก

ช่วงเวลาสำคัญของไมโครซอฟท์ ได้แก่เมื่อบริษัทไอบีเอ็มได้วางแผนจะรุกตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (พีซี) ด้วยการนำเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไอบีเอ็มออกวางตลาด ใน ค.ศ. 1985 ไอบีเอ็มได้เข้ามาเจรจากับไมโครซอฟท์เพื่อขอซื้อระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ (ไอบีเอ็มได้ทำสัญญาภาษาคอมพิวเตอร์ไปแล้ว) แต่ไมโครซอฟท์ไม่มีระบบปฏิบัติการจะขายให้ จึงแนะนำให้ไอบีเอ็มไปคุยกับดิจิทัลรีเสิร์ชแทน ที่ดิจิทัลรีเสิร์ช ผู้แทนของไอบีเอ็มได้คุยกับโดโรธี ภรรยาของ แกรี คิลดาลล์ แต่เธอปฏิเสธการลงนามในข้อตกลงมาตรฐานซึ่งไม่ปิดผนึก เนื่องจากเห็นว่าเสียเปรียบเกินไป ไอบีเอ็มจึงหันมาคุยกับไมโครซอฟท์อีกครั้ง บิล เกตส์ได้สิทธิ์ในการใช้สำเนาการออกแบบของ CP/M และ QDOS จาก ทิม แพทเทอร์สัน แห่งบริษัท ซีแอตเทิล คอมพิวเตอร์ โปรดักส์ ด้วยการซื้อมาในราคา 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และขายมันให้กับไอบีเอ็มในราคา "ราว 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ" ตามคำกล่าวอ้างของเกตส์ และในที่สุด MS-DOS และ PC-DOS ก็ได้แจ้งเกิดในวงการ ต่อมา ไอบีเอ็มได้ค้นพบว่าระบบปฏิบัติการของเกตส์อาจมีปัญหาละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลของ CP/M จึงได้ติดต่อกลับไปที่แกรี คิลดาลล์ และเพื่อแลกกับสัญญาว่าจะไม่ถูกคิลดาลล์ฟ้องกลับ ไอบีเอ็มได้ตกลงว่าจะขาย CP/M ควบคู่ไปกับ PC-DOS เมื่อคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไอบีเอ็มออกวางตลาด โดยตั้งราคาขาย CP/M ไว้ที่ 250 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ MS-DOS/PC-DOS มีราคาเพียง 40 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ MS-DOS/PC-DOS ขายดีกว่า CP/M หลายเท่า และกลายเป็นมาตรฐานในที่สุด ข้อตกลงเรื่องลิขสิทธิ์ระหว่างไมโครซอฟท์กับไอบีเอ็มเอง ไม่ได้สร้างรายได้มากมายเท่าไรนัก (ในสัญญาไม่ได้ระบุไว้ว่าจะต้องขายให้แก่ไอบีเอ็มเจ้าเดียว) แต่ในทางกลับกัน ไมโครซอฟท์มีสิทธิ์ในการขาย MS-DOS ให้กับผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์รายอื่นๆ และด้วยการโหมรุกทางการตลาดอย่างหนัก เพื่อขาย MS-DOS ให้ผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เลียนแบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไอบีเอ็ม ไมโครซอฟท์มีวิสัยทัศน์ในวงการอุตสาหกรรมไมโครคอมพิวเตอร์อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน แม้จะต้องแข่งขันกับยักษ์ใหญ่ในวงการอย่างไอบีเอ็มก็ตาม

ในกลางคริสต์ทศวรรษที่ 80 เกตส์รู้สึกตื่นเต้นเมื่อได้ทราบว่าเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลของคอมแพคดิสก์นั้นมีมาก และได้เป็นสปอนเซอร์สนับสนุนการตีพิมพ์หนังสือชื่อว่า CD-ROM: The New Papyrus (ซีดีรอม: ปาปิรุสสมัยใหม่) ที่โฆษณาแนวความคิดของซีดีรอม

ในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 80 ไมโครซอฟท์กับไอบีเอ็ม ได้ร่วมกันพัฒนาระบบปฏิบัติการที่ก้าวหน้ากว่าเดิม มีชื่อว่า OS/2 (โอเอสทู) ระบบปฏิบัติการได้ถูกนำออกตลาดร่วมกับการออกแบบฮาร์ดแวร์ตัวใหม่ของไอบีเอ็ม ที่มีชื่อเรียกว่า PS/2 (พีเอสทู) ซึ่งเป็นลิขสิทธิ์เฉพาะของไอบีเอ็ม ในขณะที่โครงการกำลังเดินหน้าอยู่นั้น เกตส์ได้มองเห็นข้อขัดแย้งระหว่างไมโครซอฟท์กับไอบีเอ็มอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่การออกแบบระบบ การสนับสนุนฮาร์ดแวร์ และส่วนประสานงานผู้ใช้ ท้ายที่สุดแล้ว เกตส์เชื่อว่าไอบีเอ็มต้องการกีดกันไมโครซอฟท์ออกจากการมีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนา OS/2 และเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม ค.ศ. 1991 เกตส์ได้ประกาศต่อพนักงานของไมโครซอฟท์ว่า ความร่วมมือกับไอบีเอ็มเพื่อพัฒนา OS/2 ได้สิ้นสุดลงแล้ว ต่อแต่นี้ไมโครซอฟท์จะหันมาทุ่มเทให้กับระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์วินโดวส์แทน โดยมีแกนกลางเป็น Windows NT. ในปีที่นำผลิตภัณฑ์ออกสู่ท้องตลาดนั้น OS/2 ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และวินโดวส์ได้กลายเป็นระบบปฏิบัติการที่เป็นที่นิยมของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

ในช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนจาก MS-DOS ไปเป็นระบบปฏิบัติการวินโดวส์ ไมโครซอฟท์ได้ยึดตลาดของคู่แข่งด้วยโปรแกรมประยุกต์หลายตัว เป็นต้นว่า WordPerfect และ Lotus 1-2-3

ในอีกเกือบ ๆ หนึ่งทศวรรษต่อมา โปรแกรมอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ (Internet Explorer) ซึ่งเป็นโปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์ของไมโครซอฟท์ ได้มาแทนที่โปรแกรมเน็ตสเคปเนวิเกเตอร์ (Netscape Navigator) ซึ่งหลายคนอธิบายความสำเร็จดังกล่าวว่า เกิดจากการที่ไมโครซอฟท์ได้รวมเอาอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ไว้ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด. ส่วนผู้ที่มีความเห็นขัดแย้งกล่าวว่า การรวมเอาอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ไว้ในระบบปฏิบัติการนั้น สำคัญน้อยกว่าการที่ไมโครซอฟท์ได้พัฒนาความสามารถของอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ จนถึงระดับที่เทียบได้กับเน็ตสเคปเนวิเกเตอร์

ในฐานะสถาปนิกซอฟต์แวร์ผู้วางยุทธวิธีการขายสินค้าของไมโครซอฟท์ บิลล์ เกตส์ได้เพิ่มความหลากหลายของประเภทสินค้าไปอย่างกว้างขวาง และเมื่อสินค้านั้น ๆ ครองตำแหน่งสินค้ายอดนิยมในบรรดาประเภทเดียวกัน เกตส์ก็จะพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อป้องกันตำแหน่งนั้นไว้ การตัดสินใจทางยุทธวิธีของเกตส์และของผู้บริหารระดับสูงของไมโครซอฟท์คนอื่น ๆ ทำให้หน่วยงานของรัฐที่ควบคุมการแข่งขันทางการตลาดจับตามอง และในบางกรณีถูกวินิจฉัยว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่นกรณีที่ไมโครซอฟท์ถูกฟ้องร้องในข้อหาผูกขาดทางการตลาดจากการรวมเอาอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ไว้ในระบบปฏิบัติการวินโดวส์เป็นต้น

ในปี ค.ศ. 2000 บิลล์ เกตส์ได้เลื่อนตำแหน่งให้ สตีฟ บาลเมอร์ เพื่อนผู้คบหากันมานาน ให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงและดำรงตำแหน่ง หัวหน้าสถาปนิกซอฟต์แวร์ แทนเขาอีกด้วย

[แก้] มูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์
บิลล์ เกตส์ กับภรรยาได้ก่อตั้ง มูลนิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์ ขึ้นเพื่อเป็นองค์กรการกุศล และได้อุทิศเงินทุนของมูลนิธิให้เป็นเงินกองทุนเพื่อทุนการศึกษาในวิทยาลัยของชนกลุ่มน้อย เป็นทุนวิจัยเพื่อการป้องกันโรคเอดส์ อันเป็นโรคซึ่งแพร่ระบาดอย่างหนักในประเทศโลกที่สาม รวมทั้งยังสนับสนุนโครงการการกุศลอื่น ๆ อีกหลายโครงการ มูลนิธิได้ให้เงินงบประมาณเพื่อการกำจัดโรคโปลิโอให้หมดไป คิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 90 ของงบประมาณทั้งโลกเพื่อการนี้ อันเนื่องมาจากนโยบายขององค์การอนามัยโลก ที่มุ่งประเด็นความสนใจไปยังโรคอื่น ๆ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1999 บิลล์ เกตส์ และภรรยาได้บริจาคเงิน 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับมูลนิธิของทั้งคู่ และพวกเขายังบริจาคเงินมากกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่ทุกข์ทรมานจากโรคเอดส์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม ค.ศ. 2005 ได้มีการประกาศว่ามูลนิธิได้บริจาคเงินเพิ่มขึ้นอีก 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ให้กับกองทุนวัคซีน เพื่อช่วยในการต่อสู้กับโรคต่างๆ เป็นต้นว่าโรคคอตีบ โรคไอกรน โรคหัดเยอรมัน โรคโปลิโอ และ ไข้เหลือง และล่าสุดใน ค.ศ. 2005 มียอดเงินบริจาคอยู่ที่ 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ล่าสุด ในเดือนกรกฎาคม 2006 บิลล์ เกตส์ ประกาศอำลาตำแหน่งสถาปนิกซอฟต์แวร์ของไมโครซอฟท์ เพื่อจะได้มีเวลาอุทิศตนเพื่องานการกุศลของมูลินิธิบิลล์และเมลินดา เกตส์มากขึ้น โดยขอเวลาสองปีเพื่อถ่ายโอนงานให้เรียบร้อย

[แก้] เกียรติประวัติ
ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จาก มหาวิทยาลัยวาเซดะ ค.ศ. 2005
รางวัลเกียรติยศผู้บัญชาการอัศวินแห่งจักรวรรดิบริเตน จากสหราชอาณาจักร ตามประกาศเมื่อปี ค.ศ. 2005 [1]
ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากสถาบันเทคโนโลยีหลวง (Roytal Institute of Technology) กรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ค.ศ. 2002
ติดหนึ่งใน 100 อันดับบุคคลสำคัญผู้มีอิทธิพลต่อประชาชนในสื่อต่าง ๆ จากการจัดอันดับของ หนังสือพิมพ์ เดอะ การ์เดียน ค.ศ. 2001
ติดอันดับบุคคลผู้มีอำนาจ, นิตยสารซันเดย์ ไทม ค.ศ. 1999
อันดับ 2 ในการจัดอันดับ 100 ดาวรุ่ง, นิตยสารอัพไซด์ ค.ศ. 1999
อันดับ 1 ในการจัดอันดับ 50 ดาวรุ่งในโลกไซเบอร์, นิตยสารไทม ค.ศ. 1998
อันดับที่ 28 ใน 100 อันดับบุคคลสำคัญผู้มีอิทธิพลในวงการกีฬา, นิตยสารสปอร์ตติง นิวส์ ค.ศ. 1997
ผู้บริหารระดับสูงแห่งปี, นิตยสารชีฟ เอกเซกคูทีฟ ออฟฟิซเซอร์ ค.ศ. 1994
นักกีฏวิทยา ได้ตั้งชื่อแมลงวันตอมดอกไม้พันธุ์หนึ่งว่า Eristalis gatesi ตามชื่อของบิลล์ เกตส์ เพื่อเป็นเกียรติแก่เขา [2]

[แก้] ประมาณการทรัพย์สินของเกตส์
บิลล์ เกตส์ ติดอันดับหนึ่ง จากการจัดอันดับ "ฟอร์บ 400" ระหว่างปี ค.ศ. 1993-2005 และติดอันดับหนึ่งในการจัดอันดับมหาเศรษฐีโลกของนิตยสารฟอร์บ ในปี ค.ศ. 1996 และระหว่างปี ค.ศ. 1998-2005 ซึ่งจากการจัดอันดับดังกล่าว สรุปได้ว่าทรัพย์สินสุทธิของเขามีมูลค่าดังต่อไปนี้:

ค.ศ. 1996 - 18.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
ค.ศ. 1997 - 36.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 2 ของโลก ([3]) (รองจากสุลตานโบลเกียแห่งบรูไน ผู้ซึ่งอยู่ในการจัดอันดับของปีนี้ แม้ว่าฟอร์บจะมีนโยบายไม่รวมประมุขของรัฐไว้ในการจัดอันดับก็ตาม)
ค.ศ. 1998 - 51.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
ค.ศ. 1999 - 90.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
ค.ศ. 2000 - 60.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
ค.ศ. 2001 - 58.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
ค.ศ. 2002 - 52.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
ค.ศ. 2003 - 40.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
ค.ศ. 2004 - 46.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
ค.ศ. 2005 - 46.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
ค.ศ. 2006 - 46.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อันดับ 1 ของโลก
การที่ทรัพย์สินสุทธิของเกตส์ มีมูลค่าลดลงตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา มีสาเหตุมาจากการที่หุ้นของไมโครซอฟท์มีราคาลดลง รวมถึงการที่เขาได้บริจาคเงินหลายพันล้านดอลลาร์ให้องค์กรการกุศลของเขา และแม้เขาจะมีรายได้ลดลง ตามรายงานของนิตยสารฟอร์บในปีค.ศ. 2004 เกตส์ยังได้บริจาคเงินรวมกว่า 28,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับองค์กรการกุศลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

เขาได้กลายเป็นบุคคลที่มั่งคั่งที่สุดในโลกไปเสียแล้ว แม้จะนับเอาประมุขของรัฐ (ผู้ซึ่งทรัพย์สินมาจากสถานะทางสังคม) ไว้ในการจัดอันดับด้วยก็ตาม (แม้ว่าการจัดอันดับตามมาตรฐานของนิตยสารฟอร์บนั้น จะไม่รวมเอาประมุขของรัฐเอาไว้ด้วย ฟอร์บได้จัดทำบัญชีประมาณการทรัพย์สินของประมุขแต่ละประเทศไว้ต่างหาก เมื่อนำรายชื่อจากการจัดอันดับทั้งสองแบบมารวมกันแล้ว พบว่าเกตส์เป็นบุคคลที่มั่งคั่งที่สุดในโลก)

[แก้] การมาเยือนเมืองไทยของ บิลล์ เกตส์

บิลล์ เกตส์ ในงาน Thailand Digital Inspiration ณ หอประชุมกองทัพเรือบิลล์ เกตส์ ได้มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2548 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการมาเจรจากันคณะรัฐบาลเรื่องโครงการ Thailand.NET และแสดงวิสัยทัศน์ให้กับประชาชนทั่วไป โดยในช่วงเช้าได้รับประทานอาหารเช้ากับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทยในขณะนั้น และ บุญคลี ปลั่งศิริ พร้อมด้วย Andrew McBean ผู้บริหารของบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) หลังจากนั้นได้ขึ้นพูดที่ทำเนียบรัฐบาล และเข้าเฝ้า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสิ้นสุดภารกิจ ด้วยการขึ้นไปพูดที่ หอประชุมกองทัพเรือ ในงาน Thailand Digital Inspiration

[แก้] บิลล์ เกตส์ในภาพยนตร์และโทรทัศน์
บุคคลิกของบิลล์ เกตส์ มักจะถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะของตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดของเนิร์ดสุดอัจฉริยะ ผู้มีอำนาจล้นฟ้า ซึ่งบุคคลิกดังกล่าวนี้มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมป็อป ในการใช้เกตส์เป็นแบบฉบับของ จอมกบฏ หรือ อัจฉริยะผู้ชั่วร้าย ผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการบัญชาการจักรวรรดิเทคโนโลยี

ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์หลายเรื่อง ได้นำเสนอบิลล์ เกตส์ ทั้งในแบบที่นำเกตส์ตัวจริงมาปรากฏตัว หรือจินตนาการตัวละครในแบบของเขาขึ้นมา ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว จะนำบุคคลิกที่กล่าวมาข้างต้นมาเป็นต้นแบบ

สื่อมวลชนมักจะคิดว่าบิลล์ เกตส์ วิตกจริตเกี่ยวกับไอคิวของเขา รวมทั้งเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับไอคิว และเชื่อกันว่าไอคิวของเกตส์อยู่ที่ราว 160 แต่อย่างไรก็ดี หลายคนประมาณการจากผลสอบ SAT exam (ที่ต้องใช้ในการสอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด) แล้วสรุปว่าเขามีระดับไอคิวอยู่ระหว่าง 120-140 เท่านั้นเอง

[แก้] ตัวละครบิลล์ เกตส์ในนวนิยาย
ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ที่นำเสนอตัวละครบิลล์ เกตส์ในรูปแบบนวนิยาย ได้แก่:

เดอะ เน็ท อินเตอร์เน็ทนรก (The Net - ค.ศ. 1995) — แองเจลลา เบนเน็ต นางเอกของเรื่องรับบทโดยซานดรา บูลล็อก เป็นวิศวกรซอฟต์แวร์สาวผู้ชอบเก็บตัว เธอได้บังเอิญไปพบ ประตูหลัง (back door) ที่ทำให้สามารถเจาะเข้าโปรแกรมระบบรักษาความปลอดภัยที่กำลังจะถูกขายให้กับรัฐบาลกลางสหรัฐ ซึ่งโปรแกรมนี้ถูกออกแบบโดยบริษัทที่มีลักษณะคล้ายไมโครซอฟท์ โดยมี เจฟ เกร็ก เป็นเจ้าของ เขาเป็นเศรษฐีพันล้าน ผู้ซึ่งมีลักษณะคล้ายบิลล์ เกตส์มาก จากการที่เราเห็นตัวของตัวละครนี้ปรากฏตัวเพียงไม่กี่ฉาก การค้นพบดังกล่าวทำให้แองเจลลากลายเป็นเป้าของพวก แพรโทเรียน กลุ่มก่อการร้ายในโลกไซเบอร์ผู้จงรักภักดีต่อเกร็ก ซึ่งได้กระทำการลบข้อมูลส่วนบุคคลของแองเจลลา และพยายามจะฆ่าเธอ เพื่อที่จะเอาแผ่นดิสก์ที่เป็นหลักฐานมัดตัวการสำคัญคืนมา
สมองกลคนสวย (A.I. Love You - ค.ศ. 1996) — ตอนต้นของเรื่อง ฮิโตชิ และซาติ ได้พบกับแฮกเกอร์จอมโฉดยอดอัจฉริยะนามว่า บิลลี่ จี. ซึ่งภายหลังผู้แต่งก็ยอมรับว่ามีที่มาจากบิลล์ เกตส์
พยัคฆ์ร้าย 007 ตอน 007 พยัคฆ์ร้ายไม่มีวันตาย (Tomorrow Never Dies - ค.ศ. 1997) — เอลลิออต คาร์เวอร์ (รับบทโดย โจนาธาน ไพรซ์) เป็นประธานองค์กรผู้นำด้านการสื่อสาร หนึ่งในบริษัทที่คาร์เวอร์เป็นเจ้าของ ประกอบธุรกิจผลิตระบบปฏิบัติการและซอฟต์แวร์ที่แฝงข้อผิดพลาดไว้ ซึ่งจะบังคับให้ผู้ใช้อัพเกรดระบบอย่างเป็นวงจรไม่มีที่สิ้นสุด สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นยุทธวิธีในการพัฒนาซอฟต์แวร์ของคาร์เวอร์นั้น ได้เคยปรากฏเป็นบทวิพากษ์วิจารณ์การผลิตระบบปฏิบัติการภายใต้การนำของบิลล์ เกตส์อย่างต่อเนื่อง คาร์เวอร์และเกตส์ยังมีลักษณะที่คล้ายกันอีกด้วย
เดอะ ซิมป์สัน (15 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1998) (ปีที่ 9 ตอนที่ 5F11) — บิลล์ เกตส์มาซื้อบริษัทอินเทอร์เน็ตที่ไม่ชอบมาพากลของ โฮเมอร์ ซิมป์สัน มีชื่อว่า CompuGlobalHyperMegaNet เกตส์สั่งให้ลูกสมุนของเขา "ซื้อขาด" กิจการของซิมป์สัน จนพวกเขากระทั่งสามารถรื้อทำลายสำนักงานได้ และเมื่อโฮเมอร์ทวงเงิน เกตส์ตอบว่า "โอ้ ผมไม่ได้รวยขึ้นมาจากการเขียนเช็คหรอกนะ! (ตามด้วยเสียงหัวเราะอย่างบ้าคลั่ง)"

บิลล์ เกตส์ ในการ์ตูนเรื่องเซาธ์ปาร์กSouth Park: Bigger, Longer, and Uncut (ค.ศ. 1999]) — นายพลแห่งกองทัพบกสหรัฐนายหนึ่งได้มาร้องทุกข์ว่า วินโดวส์ 98 ของเขาที่เพิ่งอัพเกรดล่าสุด ไม่ได้เสถียรไปกว่าเวอร์ชันก่อนที่เป็น วินโดวส์ 95 และเรียกร้องจะขอพบบิลล์ เกตส์ เมื่อตัวการ์ตูนเกตส์เริ่มชี้แจงเหตุผลว่า วินโดวส์ 98 ที่ใช้เทคโนแบบเบิลนั้นเสถียรแค่ไหน ท่านนายพลก็ได้ชักปืนออกมายิงเขา
Pretty Sammy 2 ภาพยนตร์เอะนิเมะชัน ที่มีตัวละครชั่วร้ายใช้ชื่อว่า บิฟ สแตนดาร์ด เจ้าของบริษัทผลิตซอฟต์แวร์สแตนด์ซอฟท์ ที่กำลังพยายามยึดครองตลาดระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ของญี่ปุ่น (และมีคู่แข่งที่เหนือกว่าอย่างเห็นได้ชัด ชื่อว่า บริษัทไพน์แอปเปิล ซอฟต์แวร์) ด้วยการทำร้ายตัวละครเอกของเรื่อง
Pirates of Silicon Valley (ค.ศ. 1999) — ภาพยนตร์ที่นำเสนอประวัติของแอปเปิลคอมพิวเตอร์ และไมโครซอฟท์ โดยมีแอนโทนี ไมเคิล ฮอล รับบทเป็นบิลล์ เกตส์
Net Force ของ ทอม แคลนซี (ค.ศ. 1999) — หลายคนเชื่อว่าวิลเลียม สไตล พระเอกของเรื่อง ผู้ที่พยายามจะครองโลกด้วยการควบคุมระบบอินเทอร์เน็ตนั้น แท้จริงแล้วมีที่มาจากบิลล์ เกตส์ โดยมีการระบุความพ้องกันของชื่อต้น วิลเลียม นั้นเป็นชื่อเต็มของบิลล์ และ สไตล์(stile) นั้นแปลว่าบันไดเล็กๆที่ใช้ปีนข้ามกำแพง แทนที่จะเข้าทางประตูรั้ว (gate)
แอนตี้ ทรัสต์ กระชากแผนจอมบงการล้ำโลก (ค.ศ. 2001) — ภาพยนตร์เกี่ยวกับโปรแกรมเมอร์ในบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดยักษ์ในเรื่อง ทิม รอบบินส์ รับบทโดยแกรี วินตัน ประธานบริษัทมีบุคลิกลักษณะ และบริบทของตัวละครคล้ายคลึงกับบิลล์ เกตส์เป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี แกรี วินสตันได้กล่าวถึงบิลล์ เกตส์ (ในฐานะบุคคลที่สาม) ในช่วงหนึ่งของภาพยนตร์ ซึ่งเป็นการบอกโดยนัยว่าวินสตันนั้นไม่ใช่เกตส์ ซึ่งนั่นอาจจะเป็นแค่วิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกฟ้อง
Clockstoppers (ค.ศ. 2002) — เฮนรี เกตส์ เป็นประธานบริษัทขนาดใหญ่ยักษ์ ผู้ซึ่งต้องการจะครองโลกโดยใช้เทคโนโลยี (เฮนรี เป็นชื่อกลางของบิลล์ เกตส์)
Nothing So Strange (ค.ศ. 2002) — เป็นเรื่องราวที่จินตนาการเกี่ยวกับการฆาตกรรมบิลล์ เกตส์ใน ค.ศ. 1999
2DTV (ค.ศ. 2004) (ชุดที่ 4 ตอนที่ 6) — บิลล์ เกตส์อยู่ในบ้านรูปร่างเหมือนคอมพิวเตอร์ของเขาขณะที่กำลังเขียนจดหมายถึงลูกค้า เมื่อมีเจ้าหน้าที่สำนักงานคนหนึ่งโผล่เข้ามาสร้างความรำคาญให้กับเขา ท้ายสุด ตัวการ์ตูนเกตส์เกือบจะต้องฆ่าตัวตาย เราสังเกตุเห็นข้อความบนโน้ตกระดาษว่า "หวัดดีพวก ดูเหมือนนายกำลังจะเขียนจดหมายลาตายนะ" จากนั้นก็มีลูกค้าหัวเสียจำนวนหนึ่งปรากฏตัวขึ้น มาพูดกับเขาว่า "นายต้องการความช่วยเหลือไหม?" เกตส์ยังปรากฏตัวในตอนที่ 4 ของการ์ตูนชุดนี้ ในตอนล้อเลียนที่ใช้ชื่อว่า "แมทริกซ์สำหรับวินโดวส์" ล้อเลียนระบบปฏิบัติการของไมโครซอฟท์ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นๆทุกที
Family Guy (ปีที่ 3 ตอนที่ 13) — เกตส์บินไปด้วยเครื่องเจ็ตแพค (เครื่องบินส่วนตัวแบบขึ้นลงทางดิ่ง) กับผู้บริหารระดับสูง และไมเคิล ไอสเนอร์ ประธานกรรมการบริหารของวอลต์ ดิสนีย์ ผู้ซึ่งกล่าวว่า "พระเจ้า ผู้คนดูเหมือนมดเมื่อมองจากข้างบนนี่" แล้วเกตส์ก็ตอบกลับไปว่า "พวกมันคือมด ไมเคิล พวกมันคือมด!"
ใน Command & Conquer: Yuri's Revenge ชายผู้หนึ่งซึ่งเราทราบเพียงว่าเขาชื่อ "ท่านประธานบิง" ปรากฏตัวในฐานะผู้บริหารระดับสูงของบริษัท แมสซีฟซอฟท์
ใน Robopon 2 (วิดิโอเกมสำหรับเครื่องเกมบอย แอดวานซ์) มีชายผู้หนึ่งชื่อนายเกต (Mr. Gait) เป็นเจ้าของเครือบริษัทซอฟต์แวร์ขนาดยักษ์ที่มีชื่อว่า แมคโครซอฟท์
ในตอนหนึ่งของละครเรื่อง Pinky And The Brain ที่กล่าวถึงสโนวบอลล์ คู่แข่งที่เก่งกล้าของเดอะเบรน กำลังพยายามครองโลกโดยการปลอมตัวเป็นเศรษฐีพันล้านนักออกแบบซอฟต์แวร์ชื่อว่า "บิลล์ เกรตส์"
ใน Lois & Clark (ปีที่ 3 ตอนที่ 3 ชื่อตอน "Contact") แพทริก บาลีออร์โท รับบทเป็นนักธุรกิจซอฟต์แวร์ชื่อว่า "บ็อบ เฟนซ์" (Fence = รั้ว) ซึ่งเป็นการเล่นคำกับชื่อของเกตส์ (Gate = ประตูรั้ว)

[แก้] การปรากฏตัวในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์
บิลล์ เกตส์ตัวจริงยังได้ปรากฏตัวในภาพยนตร์และละครโทรทัศน์:

ละครตลกขบขันเรื่อง Frasier — บิลล์ เกตส์ถูกเชิญให้มาเป็นแขกรับเชิญในรายการวิทยุของดร.เฟรซิเออร์ เครน อย่างไรก็ดี ทันทีที่รายการเริ่มขึ้น ผู้ฟังทางบ้านที่โทรเข้ามาต่างมีคำถามมากมายจะถามเกตส์เกี่ยวกับระบบปฏิบัติการวินโดวส์ แต่ดร.เครนไม่ได้ใส่ใจกับเสียงโทรศัพท์
Triumph of the Nerds — บิลล์ เกตส์ได้ให้สัมภาษณ์ในภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล

[แก้] การอ้างอิงถึงบิลล์ เกตส์ในซอฟต์แวร์ต่าง ๆ
โปรแกรมคอมพิวเตอร์หลายตัว ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานบนระบบปฏิบัติการอื่นนอกเหนือจากไมโครซอฟท์ วินโดวส์ ได้อ้างถึงบิลล์ เกตส์ ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม โดยส่วนใหญ่จะไม่ค่อยจะอ้างถึงในทางชื่นชมสักเท่าไรนัก ซึ่งในจำนวนนี้มี:

เกมโอเพนซอร์ส XBill ซึ่งมีตัวละครชื่อ "บิลล์" ใส่แว่นตากรอบหนา กำลังพยายามจะลง วิงโดวส์ (โปรแกรมไวรัสที่ปลอมตัวมาเป็นวินโดวส์) บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการอื่น
เกม Uropa² บน Amiga ที่มีตัวร้ายหลักชื่อว่า "บิลล์ เซแทก" (Setag = Gates สะกดแบบถอยหลัง)
ในเกม Might and Magic VII: For Blood and Honor ผู้เล่นถูกมอบหมายภารกิจหนึ่งให้สังหารตัวละครผู้ชั่วร้ายชื่อว่า "วิลเลียม เซแทก" และช่วยเหลือเจ้าหญิงที่ถูกมันจับไป
Arcanum: Of Steamworks and Magick Obscura บน ไมโครซอฟท์ วินโดวส์ ได้มีตัวละครตัวหนึ่งชื่อว่า "กิลเบิร์ต เบตส์" ผู้ประกอบการผู้มั่งคั่ง ชื่อของตัวละคร "กิล เบตส์" เป็นคำผวนของ "บิลล์ เกตส์" นั่นเอง
ในSpace Quest III: The Pirates of Pestulon เกมแอดเวนเจอร์บนเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ได้กล่าวถึงบริษัทซอฟต์แวร์ชื่อ "สกัมซอฟท์" ซึ่งเป็นชื่อล้อเลียนไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชัน ประธานบริษัทผู้ชั่วร้าย เป็นชายร่างเล็ก มีบุคลิกแบบพวกเนิร์ดสวมแว่นตา มีชื่อว่า "เอลโม พัก" ผู้ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับบิลล์ เกตส์มาก
โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับออกแบบคอมพิวเตอร์ชิป อันเป็นผลิตภัณฑ์ของ Electronic Design Automation ใช้ชื่อว่า "Build Gates" (สร้างประตู) ซึ่งประตูในที่นี้หมายถึงประตูตรรกะ (logic gate)
Kill Bill edition เป็นชื่อแผ่นซีดีสำหรับบู้ทลินุกซ์ของ SLAX ซึ่งล้อเลียนภาพยนตร์เรื่อง นางฟ้าซามูไร (Kill Bill) ภาพวอลล์เปเปอร์ของผลิตภัณฑ์เป็นรูปตัวทักซ์ (นกเพ็นกวินสัญลักษณ์ของลินุกซ์)ในชุดสีเหลืองคล้ายกับที่นางเอกเรื่องนางฟ้าซามูไรสวมใส่ เพื่อที่จะสังหารบิลล์ (เกตส์)
ในวิดิโอเกมมาเฟียของ Illusion Softworks คนชื่อ "วิลเลียม เกตส์" ออกมาปรากฏตัวในฐานะคนขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ชาวเคนตักกี
ในเกมกลยุทธ์คลาสสิก Total Annihilation: Core Contingency มีส่วนหนึ่งของเนื้อเมืองในเกมที่มีชื่อว่า "อาคารวิลลี เกตส์" ซึ่งถ้าหากผู้เล่นยึดอาคารหลังนี้ได้จะทำแต้มได้มาก
วิกิคำคม มีคำคมที่กล่าวโดย หรือเกี่ยวกับ: บิลล์ เกตส์
[แก้] หนังสือที่แต่งโดยบิลล์ เกตส์
Business @ The Speed of Thought โดยระบบประสาทดิจิตอล (ค.ศ. 1999) ISBN 0446675962
เส้นทางสู่อนาคต (ค.ศ. 1996) ISBN 0140260404

[แก้] อ้างอิง
James Wallace (1993) Hard Drive: Bill Gates and the Making of the Microsoft Empire Harper Business. ISBN 0887306292
James Wallace (1997) Overdrive: Bill Gates and the Race to Control Cyberspace John Wiley & Sons. ISBN 0471180416
Janet Lowe (1998) Bill Gates Speaks: Insight from the World's Greatest Entrepreneur John Wiley and Sons. ISBN 0471293539
Jeanne M. Lesinski (2000) Bill Gates Lerner Publications Company. ISBN 082259689X
David Bank (2001) Breaking Windows: How Bill Gates Fumbled the Future of Microsoft Free Press. ISBN 0743203151